Wiki → Pick Up What They Put Down
Contents
Metadata
UPDATED | 19 July 2024 |
HISTORY | GitHub |
สุดยอดเคล็ดลับในการเรียนรู้แบบเปิดเผย
เนื้อหาต่อไปนี้แปลจากบทความ Pick Up What They Put Down โดย Shawn Wang
สมมติว่าคุณอยากลอง "เรียนรู้แบบเปิดเผย" ขึ้นมาแล้ว
คุณอยากเริ่มทันที แต่ก็รู้สึกกังวลกับคำแนะนำมากมายเต็มไปหมด:
- "ลองอ่านบล็อกโพสต์ของผมเรื่อง Learning Gears สิ!" 555 ใช่เลย ผมชอบพูดอะไรลอยๆ แบบนี้แหละ 😛
- "ก็แค่เริ่มเขียนบล็อกให้ตัวเองในอดีตอ่านสิ!" แต่คุณก็เคยทำไปแล้วนี่ แล้วก็ไม่มีใครอ่าน จนคุณหมดไฟไปเอง
- "ลองถามคนอื่นดูสิว่าอยากอ่านอะไร!" แต่คุณไม่มีคนให้ถาม แถมคนเราก็มักจะตอบตกลงกับคอนเทนต์ฟรีอยู่แล้ว ซึ่งพอคุณเขียนเสร็จ พวกเขาก็ไม่อ่านอยู่ดี คุณเลยหมดไฟไปอีก
- "ใจเย็นๆ กว่าจะมีคนอ่านก็ต้องใช้เวลาหน่อย" แต่คนที่พูดแบบนี้ก็มักจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จไปแล้ว ซึ่งคุณรู้สึกว่าเข้าไม่ถึง เลยหมดไฟไปตามระเบียบ
คุณไม่ได้ตัวคนเดียวนะ
2 ปีที่ผ่านมา ผมได้คุยกับคนเป็นร้อยๆ คน ที่อยู่ในจุดต่างๆ ของเส้นทาง #LearnInPublic และแน่นอนว่าผมเองก็เคยผ่านจุดนั้นมาก่อน มันก็ยังเป็นเรื่องยากอยู่ดีที่จะเริ่มต้น ไม่ว่าจะมีคนหวังดีมาบอกคุณกี่คนว่าพวกเขาทำอะไรและทำยังไง
ผมคิดว่า เช่นเดียวกับการสร้างนิสัยหรือควบคุมอาหาร แผนที่ดีที่สุดสำหรับคุณคือแผนที่คุณทำได้อย่างต่อเนื่อง
หลังจากที่ผมครุ่นคิดอยู่นาน ผมก็เจอเคล็ดลับเด็ดมาฝากคุณ มันสั้นๆ แค่ 6 คำ:
Pick Up What They Put Down
หยิบสิ่งที่พวกเขาวางไว้
“พวกเขา” คือใคร? ใครก็ได้ที่คุณชื่นชม ใครก็ได้ที่รู้เรื่องที่คุณกำลังเรียนรู้มากกว่าคุณ ถ้ายังกว้างไป ลองมองหาคนดู library หรือภาษาโปรแกรมที่คุณใช้ หรือคนที่ทำวิดีโอบน YouTube คนที่ทำ podcast คนเขียนหนังสือ เขียน blog หรือคอร์สต่างๆ
“วางไว้” หมายความว่าอะไร? library ใหม่, demo, video, podcast, หนังสือ, บล็อกโพสต์, หรือคอร์สใดๆ ก็ตามที่พวกเขาเพิ่งสร้างขึ้นมา สิ่งสำคัญคือต้องเป็นของใหม่ เพราะการที่มันเป็นของใหม่ แสดงว่าพวกเขากำลังให้ความสนใจกับมันมากที่สุด และยังหมายความว่ามันน่าจะยังขาดฟีดแบ็กดีๆ ด้วย
(นี่แหละ... โอกาสของคุณมาถึงแล้ว!)
แล้วจะ "หยิบ" มันขึ้นมายังไง? นี่คือตัวอย่างไอเดียสำหรับคุณ:
- ถ้าเป็น library ใหม่ ลองเอาไปใช้ดู รายงานบั๊ก ถามคำถามเกี่ยวกับเอกสารที่เข้าใจยาก ทำ demo โดยใช้ไลบรารีนั้น แล้วเขียน blog เกี่ยวกับมัน!
- ถ้าเป็น demo ใหม่ ลองอ่าน source code! แล้วเขียนบทความอธิบายซอร์สโค้ดทีละขั้นตอน โดยใช้คำพูดของคุณเอง
- ถ้าเป็นวิดีโอ/talk/podcast/หนังสือ/บล็อกโพสต์ใหม่ ลองสรุปใจความสำคัญโดยใช้คำพูดของคุณเอง
- ถ้าเป็นคอร์สใหม่ ลองเรียนดู แล้วสรุป 3 สิ่งที่คุณได้เรียนรู้
- ผู้คนชอบอ่าน Sketch note มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม
- Tan Li Hau ได้เป็นผู้ดูแล Svelte เพราะเขา “หยิบ” งานที่ต้องทำในโค้ดเบสของ Svelte ขึ้นมาทำ
- คิดไอเดียใหม่ๆ ขึ้นมาเองเลย ผมไม่ได้เป็นเจ้านายคุณซะหน่อย
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใดก็คือ คุณต้องชอบหรือตื่นเต้นกับสิ่งที่คุณหยิบขึ้นมาทำจริงๆ ถ้าไม่ชอบ ก็ปล่อยผ่านไปเงียบๆ คุณคงไม่อยากให้ใครมองว่าคุณคอยจ้องแต่จะขยี้ผลงานของคนอื่นหรอกนะ
และที่สำคัญ คุณต้อง "ปิดวงจร" ด้วย — เมื่อคุณสร้างผลงานอะไรก็ตาม (เช่น บล็อกโพสต์) ที่อ้างอิงจากงานของพวกเขา อย่าลืมแท็กหาเจ้าของผลงานบนโซเชียลมีเดียด้วย คุณอาจจะแท็กใน Twitter ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อสิ่งนี้โดยเฉพาะ หรือคุณจะตอบกลับในคอมเมนต์ หรือส่งอีเมลไปหาพวกเขาพร้อมกับข้อความดีๆ ก็ได้
แล้วจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อคุณทำแบบนี้?
มีโอกาสสูงมากที่คุณจะได้รับ feedback เกี่ยวกับ blog post, demo, tweet หรืออะไรก็ตามที่คุณทำ โดยตรง จากพวกเขาเลย เขาอาจจะ retweet ข้อความของคุณ หรือ follow คุณกลับด้วย (เป็นเรื่องปกติ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณมีปฏิสัมพันธ์กันบ่อยๆ จนพวกเขามองเห็นว่าคุณเป็นคนใฝ่รู้และกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้จริงๆ
ถ้าคุณพยายามอย่างเต็มที่ที่จะเข้าใจหัวข้อนั้นๆ แล้วคุณยังเข้าใจผิด คุณก็จะได้รับการแก้ไข ถ้าคุณไม่ยึดติดกับความคิดตัวเอง คุณก็จะรับมือกับมันได้ อันที่จริง การทำผิดพลาดต่อหน้าสาธารณะจะเป็นแหล่งการเติบโตส่วนตัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคุณ
ทำไมวิธีนี้ถึงได้ผลกับพวกเขา?
ง่ายมาก: เพราะไม่ค่อยมีใครทำกัน นั่นแหละคือเหตุผลที่มันเป็นเคล็ดลับเด็ด
กิจกรรมต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตมีการกระจายตัวตามกฎของซิปฟ์ (Zipf's law) ซึ่งบางครั้งเรียกว่า “กฎ 1%” กล่าวคือ 90% ของคนดูคอนเทนต์แบบไม่โต้ตอบ 9% แสดงความคิดเห็น และ 1% สร้างคอนเทนต์ ผมเห็นด้วยกับเรื่องนี้ แต่ความจริงแล้วตัวเลขมันคลาดเคลื่อนกว่านั้นมาก:
- ผมช่วยดูแล subreddit แห่งหนึ่งที่มีผู้เข้าชมประมาณ 300,000 คนต่อเดือน — โดยประมาณ 2,000 คนเท่านั้นที่แสดงความคิดเห็น และมีเพียง 100 คนเท่านั้นที่ส่งคอนเทนต์อย่างสม่ำเสมอ
- ทวีตของผมมียอด impressions ประมาณ 2-3 ล้านครั้งต่อเดือน แต่มีคนพูดถึง/ตอบกลับเพียง 1-2 พันครั้งเท่านั้น
- ลองเลือกวิดีโอ YouTube ที่คุณสนใจสักอัน ดูยอดวิว แล้วดูจำนวนคอมเมนต์สิ
สรุปคือ จำนวนคนที่เสพเนื้อหาแบบแบบดูอย่างเดียว จริงๆ แล้วใกล้เคียงกับ 99% และมีน้อยกว่า 1% ด้วยซ้ำที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาใหม่ๆ ผมไม่ได้พูดเกินจริงเลยแม้แต่น้อย
Cesar Kuriyama เคยทวีตหา Jon Favreau เกี่ยวกับแอปที่เขาสร้างขึ้นมาแต่ไม่ได้รับความนิยม รู้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้น? Jon นำแอปของ Cesar ไปใส่ไว้ในหนังดังของเขาเรื่อง Chef
สรุปก็คือ คนเรามักจะขี้เกียจ นั่นหมายความว่าคุณสามารถก้าวไปข้างหน้าได้ด้วยการ "ไม่ขี้เกียจแบบมีกลยุทธ์"
แล้วกลยุทธ์คืออะไร? พูดตามผมนะครับ: PICK UP WHAT THEY PUT DOWN
ทุกวันนี้ "ฟีดแบ็ก" เป็นสิ่งที่ หายากมาก จริงอยู่ที่เหล่าซูเปอร์สตาร์ในวงการต่างก็มี inbox ที่เต็มไปด้วยข้อความจนตอบไม่ไหว คุณอาจจะถูกเมินบ้าง แต่เชื่อเถอะว่า แม้แต่พวกเขาก็พยายามอย่างมากที่จะตอบกลับฟีดแบ็กบางส่วน และอย่างที่เราได้พูดคุยกันไปแล้วว่า คนที่ให้ฟีดแบ็กแบบนั้นมีไม่มากนัก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบน Twitter ผู้คนมักจะเขินอายที่จะโปรโมตผลงานของตัวเอง แต่ถ้ามีคนอื่นบนอินเทอร์เน็ตพูดถึงผลงานของพวกเขาในแง่ดีล่ะก็ พวกเขาก็สามารถรีทวีตได้ทั้งวันเลยล่ะ
แล้วทำไมวิธีนี้ถึงได้ผลกับ "ตัวคุณ" เอง?
คำตอบคือ “ฟีดแบ็ก” “ฟีดแบ็ก” และ “ฟีดแบ็ก” คุณจะหมดกำลังใจเมื่อไม่ได้รับฟีดแบ็ก สิ่งที่เราทุกคนต้องการเพื่อที่จะทำอะไรต่อไปเรื่อยๆ คือ ฟีดแบ็ก ไม่ว่าจะเป็นในแง่บวกหรือลบ เพื่อเป็นแนวทางในการก้าวต่อไป การที่เราไม่รู้ว่าจะได้รับฟีดแบ็กแบบไหน ทำให้มันกลายเป็น “รางวัลที่ไม่แน่นอน” (variable reward) ซึ่งเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้มนุษย์สร้างนิสัยใหม่ได้เป็นอย่างดี
ลองอ่านแบบจำลองในหนังสือ Hooked ของ Nir Eyal ดูนะครับ แต่โดยพื้นฐานแล้ว เรากำลังสร้าง:
- ตัวกระตุ้น (Trigger): มีสิ่งใหม่ถูกสร้างขึ้น
- การกระทำ (Action): “หยิบมันขึ้นมา” หรือก็คือ คุณสร้างคอนเทนต์บางอย่างที่อ้างอิงจากสิ่งใหม่นั้น
- รางวัลที่ไม่แน่นอน (Variable Reward): คุณได้รับฟีดแบ็ก คำชม หรือคำติชมจากผู้สร้าง
- การลงทุน (Investment): คุณตอบสนองหรือเรียนรู้จากฟีดแบ็กนั้น เพื่อที่คุณจะได้ทำได้ดีขึ้นในครั้งต่อไป (ซึ่งก็คือ “กระบวนการเรียนรู้” นั่นเอง)
ถึงเวลาลงมือทำแล้ว!
นี่เป็นช่วงเวลาแห่งการเปิดตัวสิ่งใหม่ๆ ในเดือนหน้า จะมี library, demo, talk, podcast และคอร์สใหม่ๆ ออกมามากมาย ที่เกี่ยวกับสิ่งที่คุณอยากเรียนรู้
เลือกมาสัก 3 อย่างที่คุณสนใจ แล้ว “หยิบ” มันขึ้นมา
ผมรับประกันเลยว่า คุณจะได้รับฟีดแบ็กอย่างน้อยหนึ่งอย่าง และถ้าคุณไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้สูงจนเกินไป คุณจะได้รับฟีดแบ็กครบทั้ง 3 อย่างแน่นอน
ทำแบบนี้ 12 ครั้ง
เมื่อครบปี คุณจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ มากมาย และได้เพื่อนใหม่เพิ่มขึ้นอีกเพียบ รวมถึงผมด้วย... ถ้าคุณ (กระแอม) แท็กหาผม 😉
ตัวอย่าง
- บทวิเคราะห์ของผมเกี่ยวกับ React Suspense demo ที่ผมทำในวันถัดจากที่มันเปิดตัวในปี 2018 ตอนนั้นผมเพิ่งเริ่มใช้ React คุณสามารถดูการตอบรับได้บน Twitter
- ผมสรุปหนังสือ TypeScript ของ Boris Cherny
- ผมสรุปพอดแคสต์ที่ Evan You เป็นแขกรับเชิญ
- Sean Wes: Learn From People Ahead, Connect With People Beside (เรียนรู้จากคนที่อยู่ข้างหน้า และเชื่อมสัมพันธ์ต่อกับคนที่อยู่ข้างๆ)
- ลองหา Greatness formula และ the Best Friend Method
Metadata
UPDATED | 19 July 2024 |
HISTORY | GitHub |