Metadata
UPDATED | 21 July 2024 |
HISTORY | GitHub |
วิธีที่เร็วที่สุดในการสร้างความเชี่ยวชาญ เครือข่าย และ second brain (คลังความรู้ส่วนตัว) ของคุณ
เนื้อหาต่อไปนี้แปลจากบทความ Learn In Public โดย Shawn Wang
จงเรียนรู้ในที่สาธารณะ
วิธีที่เร็วที่สุดในการเรียนรู้
ถ้ามันจะมีกฎเหล็กสักข้อ ก็คงเป็นข้อนี้แหละที่สำคัญที่สุด กฎข้อนี้เลยมาก่อนข้ออื่นๆ ที่ก็ต่อยอดมาจากกฎข้อนี้ทั้งนั้น
คุณคงรู้อยู่แล้วว่าการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด แต่คนส่วนใหญ่กลับเลือก “เรียนแบบเงียบๆ” คือเรียนอะไรแล้วก็เอามากอดไว้กับตัว แต่ก็ไม่ได้สร้างอะไรขึ้นมาเอง ซึ่งมันก็ไม่ได้ผิดอะไรนะ แต่ในบทความนี้เรากำลังพูดถึงการเข้าไปอยู่ในกลุ่มท็อป 20% โดยสิ่งที่คุณทำ คือการสร้างนิสัย “ปล่อยของ” ปล่อยสิ่งที่เรียนรู้ออกมา:
- เขียนบล็อก เขียน tutorial (บทความสอน) หรือทำ cheatsheet (โพยสรุปเนื้อหา)
- ไปพูดตามงาน meetup หรือ conference
- ถาม-ตอบ ในเว็บแบบ Stack Overflow หรือ Reddit (แนะนำว่าให้หลีกเลี่ยง Slack หรือ Discord เพราะเนื้อหาในนั้นมันไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ)
- ทำวิดีโอขึ้นเว็บ YouTube หรือสตรีมขึ้นเว็บ Twitch
- เริ่มสร้าง newsletter (จดหมายข่าว) ของตัวเอง
- วาดการ์ตูน (ผู้คนชื่นชอบการอ่านการ์ตูนจะตาย!)
ไม่ว่าคุณจะถนัดหรือไม่ถนัดอะไร จริงๆ สิ่งที่ต้องทำนั้นง่ายมากคือการสร้างในสิ่งที่คุณหวังว่าจะเจอมันเร็วกว่านี้ตอนที่คุณเรียนรู้เรื่องพวกนั้นอยู่ แล้วก็อย่าไปสนใจยอดปรบมือ ยอดรีทวิต ยอดดาว หรือยอดอัพโหวต — ให้ลองคิดว่ากำลังอธิบายให้ตัวเองเมื่อ 3 เดือนที่แล้วฟังก็พอ ผมเองก็เขียนบล็อกเกี่ยวกับงาน dev เกือบทุกวัน โดยที่เขียนไปก็ไม่ได้หวังให้ใครมาอ่านหรอกนอกจากตัวเอง
รู้ไหมว่าจริงๆ แล้วสิ่งสำคัญคืออะไร? มันไม่ได้เกี่ยวกับการทำให้คนทั้งโลกเห็นคอนเทนต์ของคุณ (ถ้าทำได้ก็ดีนะ เอาเป็นว่าถ้าดังแล้วอย่าลืมผมล่ะ) แต่เชื่อเถอะว่า เหนือสิ่งอื่นใด คนที่จะได้รับประโยชน์ที่สุดจากการที่คุณพยายามช่วยเหลือตัวเองในอดีต ก็คือตัวคุณในอนาคตนั่นแหละ แต่ถ้าคนอื่นได้ประโยชน์ไปด้วย นั่นก็ถือว่าเป็นกำไรไป
คิดว่าแค่นี้พอแล้วเหรอ? ยังไม่หมดนะ:
- ดูวิดีโอสอนเขียนโค้ดแล้วชอบใจ? ลองติดต่อคนพูด/คนสอนเพื่อขอบคุณ แล้วถามคำถามดูสิ
- สร้าง pull request ไปช่วยพัฒนา library ที่คุณใช้
- ลองสร้าง library ของตัวเองดู ถึงจะไม่มีใครใช้ก็เถอะ
- ลองลอกเลียนแบบสิ่งที่คุณชอบ โดยสร้างมันขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ต้น เพื่อดูว่ามันทำงานยังไง
- จัด workshop
- ไปร่วมงาน conference แล้วสรุปสิ่งที่เรียนรู้
ถ้าคุณเบื่อกับการสร้างอะไรที่ใช้ได้ครั้งเดียว ให้ลองสร้างฐานความรู้ที่มันต่อยอดไปได้เรื่อยๆ Open Source คลังความรู้ของคุณสู่สาธารณะ! ("Open Source Your Knowledge!") ในทุกๆ ขั้นตอนระหว่างทาง: บันทึกสิ่งที่คุณทำ และปัญหาที่คุณแก้ได้
หัวข้อย่อยใต้กฎข้อนี้คือ: พยายามทำให้ดีที่สุด แต่อย่าไปกังวลถ้าทำผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้าคุณรู้สึกไม่มั่นใจว่านี่ตนเองรู้จริงหรือเปล่า รู้สึกเหมือนตัวเองเป็น imposter นั่นแหละดีแล้ว แสดงว่าคุณกำลังผลักดันตัวเอง อย่าคิดว่าตัวเองรู้ทุกอย่าง แต่พยายามทำให้เต็มที่ แล้วปล่อยให้อินเทอร์เน็ตคอยแก้ไขเวลาที่คุณทำผิดพลาด (ซึ่งต้องมีบ้างแหละ) แสดงออกไปเลยว่าเรายังเป็นมือใหม่อยู่
มีคนบอกว่าคุณห่วย? ดีแล้ว คุณก็เห็นด้วยกับเขา และขอให้เขาอธิบายอย่างละเอียดไปเลยว่าห่วยตรงไหนบ้าง คุณแค่อยากรู้สึกดีหรืออยากจะเก่งจริงๆ กันแน่ล่ะ? คุณไม่จำเป็นต้องไปเถียงหรือเก็บมาเป็นอารมณ์ แค่กลับไปแล้วพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาคิดผิดก็พอ แต่แน่นอนว่าถ้าพวกเขาพูดจาไม่ดีหรือใช้คำพูดหยาบคายใส่ ก็บล็อกมันไปเลย
ได้บอกไปรึยังนะว่าการสอนคือวิธีเรียนรู้ที่ดีที่สุด? ลองพูดไปด้วยตอนเขียนโค้ดดูสิ มันอาจจะกดดันหน่อย และผมเองก็ไม่ได้ทำบ่อยนัก แต่เวลาที่ผมสัมภาษณ์งาน ครั้งที่ผมทำได้ดีที่สุดคือครั้งที่ผมเผลอพูดเหมือนตอนสอนคนอื่น แทนที่จะพยายามพิสูจน์ตัวเองอย่างเอาเป็นเอาตาย เราเป็นสัตว์สังคม เราดูออกว่าใครมีความมั่นใจ และใครกำลังสิ้นหวัง
ถึงจุดหนึ่งคุณจะเริ่มมีผู้สนับสนุนคอยช่วยเหลือคุณเอง ถ้าคุณเป็นผู้ที่กระหายอยากเรียนรู้ตัวจริง คนเราจะมองออก และคนเหล่านั้นก็จะอยากช่วยเหลือคุณ คุณไม่ต้องไปบอกเขานะ แต่พวกเขากลายเป็นพี่เลี้ยงของคุณไปแล้วล่ะ สิ่งที่สำคัญมากคือ: รับโอกาสที่พวกเขามอบให้ ("Pick Up What They Put Down") คิดซะว่าพวกเขากำลังเสนอเควสให้คุณทำ เมื่อไหร่ที่พวกเขาพูดว่า "มีใครอยากช่วยเรื่อง ____ บ้าง?" คุณต้องเป็นเด็กแถวหน้าสุดที่ยกมือรอตั้งแต่พวกเขายังไม่ทันถามจบ พวกเขาที่ว่าอาจเป็น senior engineer อาจเป็นบุคลากรที่เป็นที่ต้องการตัวมากที่สุดในวงการเทคโนโลยี พวกเขาจะสละเวลามาคุยกับคุณแบบตัวต่อตัวถ้าคุณช่วยเหลืองานเขา (บอกเลยว่าพวกเขามีงานให้ช่วยตลอดแหละ) ซึ่งคุณไม่มีทางหาซื้ออะไรแบบนี้ได้หรอก พวกเขาจะเต็มใจสอนคุณฟรีๆ คนส่วนใหญ่มองไม่เห็นโอกาสนี้ตรงหน้า แต่โชคดีที่นั่นไม่ใช่คุณ
คุณอาจสงสัยว่า "ในเมื่อมี junior dev ตั้งเยอะแยะ ทำไมพวกเขาต้องมาช่วยดันหลังเราด้วย?"
ก็เพราะว่าคุณ "Learn in Public" ยังไงล่ะ การสอนคุณ ก็เหมือนกับการสอนคนอื่นๆ ไปด้วยในตัว คุณคือ “เครื่องขยายเสียง” ของพวกเขา และที่สำคัญ คุณมีสิ่งหนึ่งที่พวกเขาไม่มี นั่นคือ “มุมมองของมือใหม่” เริ่มเข้าใจรึยังว่ามันทำงานยังไง?
สักวันหนึ่ง ผู้คนจะเริ่มขอความช่วยเหลือจากคุณ เพราะเห็นสิ่งต่างๆ ที่คุณเผยแพร่ออกไป รู้ไหมว่า 80% ของนักพัฒนาซอฟต์แวร์นั้นเป็น "มนุษย์ล่องหน" พวกเขาไม่เขียน ไม่พูด ไม่แสดงตัวตนในวงสนทนาสาธารณะด้านเทคโนโลยี แต่คุณไม่ใช่ คุณทำสิ่งเหล่านั้น คุณต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญแน่ๆ เลยใช่ไหม? ไม่ต้องไปบอกพวกเขานะว่าไม่ใช่ ตอบคำถามให้ดีที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ และถ้าคุณติดขัดหรือทำผิดพลาด ก็ส่งต่อให้พี่เลี้ยงของคุณช่วยจัดการ
แล้วสักวันหนึ่งก็จะถึงวันที่คุณไม่ต้องพึ่งพี่เลี้ยงอีกต่อไป คุณจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง แต่คุณก็ยังคงสร้างสรรค์ และเผยแพร่คอนเทนต์ต่อไป เข้าใจรึยังว่ามันทำงานยังไง?
จงเรียนรู้ในที่สาธารณะ
ปล. สุดท้ายแล้ว พวกเขาจะอยากจ่ายเงินให้คุณเพื่อแลกกับความช่วยเหลือของคุณด้วย มากกว่าที่คุณคิดไว้เยอะ
Metadata
UPDATED | 21 July 2024 |
HISTORY | GitHub |